4 ขั้นตอนสู่อิสรภาพทางการเงิน

โค้ชหนุ่ม - จักรพงษ์ เมษพันธุ์
โค้ชหนุ่ม - จักรพงษ์ เมษพันธุ์
4 ขั้นตอนสู่อิสรภาพทางการเงิน

 4 ขั้นตอนสู่อิสรภาพทางการเงิน

หลายปีที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินสายบรรยายให้ความรู้ทางการเงินกับน้อง ๆ นิสิตนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 ที่กำลังจะเรียนจบออกมาใช้ชีวิตของตัวเองในอนาคตอันใกล้

สิ่งที่ผมเล่าให้น้อง ๆ ฟัง ก็คือแนวคิดการบริหารเงินเพื่อนำพาชีวิตไปสู่การมีอิสรภาพทางการเงิน มีเงินเพียงพอใช้ได้ตลอดทั้งชีวิต และการเลือกใช้ชีวิตโดยไม่ต้องมีเงินมาเป็นเครื่องพันธนาการ

ซึ่งแนวคิดและวิธีการก้าวสู่อิสรภาพทางการเงินที่ผมถือปฏิบัตินั้นง่าย ไม่ยุ่งยาก มีด้วยกัน 4 ขั้นตอน ดังนี้ครับ

1) บริหารเงินให้ “เหลือ”ทุกเดือน

จะใช้วิธีการใดก็ได้ แต่ต้องทำให้เงินเหลือทุกเดือน ยิ่งเหลือมากยิ่งดี เพราะเริ่มเหลือ …ก็เริ่มรวย

แนวปฏิบัติเบื้องต้นที่ง่ายที่สุด ก็คือ การหักเงินออมก่อนใช้จ่าย อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของเงินทุกก้อนที่หาได้ จะมากกว่าก็ได้ (แต่ถ้ายังเป็นหนี้ ให้เริ่มที่ 3%) และยิ่งถ้าทำให้การออมเป็นอัตโนมัติ​โดยไม่ต้องออกแรงยิ่งแจ่มกันไปใหญ่

สำหรับใครที่ทำงานประจำ ผมมักแนะนำให้เปิดบัญชีอีกหนึ่งบัญชี เป็นบัญชีคู่ขนานกับบัญชีเงินเดือน (อาจเป็นบัญชีกองทุนรวมก็ได้นะ) แล้วแจ้งทางธนาคารให้หักเงินไปออมในบัญชีดังกล่าวเป็นประจำทุกเดือน ณ ​วันที่เงินเดือนออกเพื่อให้มั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะอย่างไรเรามีเงินออมแน่ ๆ

เป้าหมายของการออมเงิน ก็จัดเรียงเป็นลำดับ คือ หนึ่ง สะสมเป็นเงินสำรองพอใช้จ่ายได้ 6 เดือน สอง สะสมเพื่อไว้ใช้เป็นทุนเกษียณรวย และสาม สะสมไว้ใช้เป็นทุนเกษียณเร็ว

2) บริหารความเสี่ยงทางการเงินให้เป็น

ชีวิตคนเรามีภัยทางการเงินมากมาย เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ทรัพย์สินเสียหาย ภัยจากการรับผิดทางการงาน รวมถึงภัยที่เกิดกับคนในครอบครัว

สิ่งที่เราต้องทำ ก็คือ มานั่งพิจารณาดูดีดีว่า เรามีความเสี่ยงเรื่องใดบ้าง ความเสี่ยงกรณีเสียชีวิตมากหรือน้อยเพียงใด ถ้าตายไปส่งผลกระทบทางการเงินหรือไม่ ความเสี่ยงด้านการเจ็บป่วยมีมากน้อยเพียงใด ถ้าเจ็บป่วยส่งผลกระทบทางการเงินหรือไม่ถ้ามีต้องวางแผนรับมือให้หมด ใช้แนวคิดการดูแลตัวเอง ควบคู่ไปกับการใช้ประกันอย่างเหมาะสม

หัดมองเรื่องร้าย ๆ ไว้บ้าง และเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ เมื่อวันที่อันตรายมาเยือนจริง ๆ จะได้ไม่ส่งผลกระทบกับเป้าหมายทางการเงินของตัวเองมากเกินไป ไม่ต้องเดินสะดุดล้มบ่อย ๆ จะได้ไปถึงอิสรภาพทางการเงินเร็วขึ้น

3) วางแผนเกษียณรวย            

ทำแบบง่าย ๆ ไม่ต้องใช้ความพยายามมาก ใช้เศษเงินเพียงไม่กี่บาทต่อวัน (ที่หักออมไว้นั่นแหละ) สะสมและลงทุนในหุ้น หรือกองทุนรวมหุ้นอย่างต่อเนื่อง หรือถ้ามีตัวช่วยอยู่แล้ว อย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ก็ใช้หักผ่านสองกองทุนนี้ก็ได้ (แต่ถ้าไม่มีก็อาจเป็น RMF แทน ก็ได้ครับ)

ตั้งโจทย์ไว้ว่า ชาตินี้จะรวยเร็วหรือเปล่าไม่รู้ แต่วันที่เลิกทำงานต้องรวย ต้องมีกิน ไม่ต้องพึ่งพาใคร

4) วางแผนเกษียณเร็ว

แผนนี้เป็นสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้เร็วขึ้น ถือเป็นแผนหลัก โดยมีแผนเกษียณรวย (ในข้อ 3) เป็นแผนสำรอง

หลักการนั้นก็ง่าย ไม่ยุ่งยาก มุ่งเน้นสร้างการลงทุน เพื่อเพิ่มอัตราเร่งสู่อิสรภาพทางการเงิน ด้วยหลักคิด ใช้เงินตัวเองให้น้อย (OPM) สร้างคุณค่าและพลังทวีขั้นสูงสุดให้กับการลงทุน (Leveraging) เพื่อเป้าหมายใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการตั้งแต่อายุยังน้อย

ซึ่งแผนนี้อาจเป็นแผนที่ดูแล้วยากกว่า 3 แผนแรกสักหน่อย และต้องใช้ความรู้เรื่องการลงทุนพอสมควร แต่ก็ไม่เกินวิสัยที่จะเรียนรู้และลงมือทำให้สำเร็จได้

ผมเชื่อเสมอว่า “เรื่องเงินเป็นเรื่องง่ายคุณเองก็ทำได้”​ขอแค่มีความรับผิดชอบ มีความรู้ทางการเงินที่ถูกต้อง และที่สำคัญมีวินัยที่จะอดทนทำตามแผนการของตัวเองอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

ผมทำได้ …​คุณเองก็ทำได้เชื่อผมสิ
#TheMoneyCoachTH